อาหารบรรเทาอาการซึมเศร้า
อาหารบรรเทาอาการซึมเศร้า
ในปัจจุบัน “ภาวะซึมเศร้า” เป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นและมีแนวโน้มความรุนแรงของโรคเพิ่มสูงขึ้น องค์การอนามัยโรค (WHO) เคยคาดการณ์ว่า ในปีนี้ภาวะซึมเศร้าจะพบเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจขาดเลือด “ภาวะซึมเศร้า” เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติ อันมีผลจากการทำงานของสารสื่อประสาทบางตัวที่มีน้อยกว่าปกติ ได้แก่ ซีโรโทนิน (Serotonin), โดปามีน (Dopamine) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ทำให้เกิดความผิดปกติของอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่น
1. ความผิดปกติของอารมณ์ – รู้สึกเศร้า หดหู่ ไม่ร่าเริง หม่นหมอง หรือบางคนอาจแสดงอารมณ์หงุดหงิดโกรธง่ายผิดแปลกไปจากอุปนิสัยเดิม เบื่อหน่าย ไม่สนใจอยากทำกิจกรรมใด ๆ แม้แต่กิจกรรมที่เคยสนใจ ไร้อารมณ์ ไร้จุดหมาย ไร้แรงจูงใจ
2. ความผิดปกติของความคิด – ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่ต้องใช้ความตั้งใจได้นานโทษตัวเอง เกลียดตัวเอง มีความคิดอยากตายหรืออยากทำร่ายตัวเองให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
3. ความผิดปกติของพฤติกรรม – เบื่ออาหาร หรืออาจรับประทานได้มากผิดปกติ นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น หรือนอนหลับมากกว่าปกติ เฉื่อย ช้า หรือกระวนกระวายจนเกินควรจนคนรอบข้างสังเกตได้ แยกตัวออกจากสังคม เหนื่อย อ่อนเพลีย ดูไร้เรี่ยวแรงแม้ไม่ได้ทำงานหรือกิจกรรมใด ๆ
โดยอาการดังกล่าวต้องเกิดต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ การรักษาโรคซึมเศร้ามีทั้งการรักษาแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะต้องใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป และหนึ่งในวิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยาที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรให้ความสำคัญก็คือ การรับประทานอาหารเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า
มีผลงานวิจัยที่ระบุว่าอาหารเพียงอย่างเดียวสามารถช่วยลดผลของโรคซึมเศร้าได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าระดับปานกลางจนถึงรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามผู้ร่วมวิจัยดังกล่าวต้องรับประทานอาหารตามโปรแกรมเฉพาะที่ผู้วิจัยจัดให้เท่านั้น เป็นเวลาต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ ในขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดรูว์ แรมซีย์ จิตแพทย์ผู้บุกเบิกด้านโภชนาการทางจิตเวชและรักษาผู้ป่วยโดยการให้ยารักษาโรคซึมเศร้าการบำบัดและการแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมกับโรคซึมเศร้าจะยิ่งส่งผลให้กระบวนการรักษาโรคได้ผลดีขึ้น
อาหารและสารอาหารที่สำคัญสำหรับโรคซึมเศร้า
1. ธัญพืชและเมล็ดถั่ว เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง ฯลฯ รวมถึงเห็ดทุกชนิด เนื่องจากมีสารซีลีเนียม (selenium) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเอ็นโดรฟินในร่างกาย
2. วิตามินดี (Vitamin D) อาหารที่เป็นแหล่งวิตามินดีได้แก่ไข่แดงตับนมเนยนอกจากนี้ยังสามารถรับวิตามินดีได้จากแสงแดดอ่อนยามเช้าอีกด้วย
3. เนื้อปลาต่าง ๆ ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวายเนื้อขาว ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า เป็นต้น การรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 อาจช่วยเพิ่มระดับไขมันดีในสมอง ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพและยังช่วยลดความเสี่ยงภาวะผิดปกติทางอารมณ์อีกด้วย
4. เนื้อวัว เนื้อสัตว์ปีก หอยนางรม อาหารทะเล นม เป็นแหล่งของโปรตีน สังกะสี และโฟเลตที่มีประโยชน์
5. ผักและผลไม้สีส้มเช่นมะเขือเทศแคนตาลูปแครอทฟักทองมะม่วงน้ำเต้าและผักใบสีเขียวบางประเภทเช่นกะหล่ำปลีผักขมซึ่งจะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยต้านการอักเสบและการตายของเซลล์ต่างๆในร่างกายก่อนวัยอันควรและลดอาการที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากภาวะความผิดปกติทางจิต
6. เครื่องดื่มที่มีสารแอนโทไซยานิน เช่น น้ำอัญชัน น้ำองุ่นแดง–ม่วงน้ำแอปเปิ้ลแดงน้ำลูกพรุนน้ำเบอร์รี่ประเภทต่างๆเนื่องจากสารแอนโทไซยานินจะช่วยกระตุ้นความจำช่วยผ่อนคลายความกังวลและความเครียดช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น
ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเท่านั้นที่ควรรับประทานอาหารที่กล่าวมาข้างต้นในคนทั่วไปก็สามารถเลือกรับประทานอาหารเหล่านี้ได้เช่นกันเพราะล้วนแต่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีคุณค่าต่อการสร้างสุขภาวะทางอารมณ์